ชมรมคนพิการไทยใจอาสาเข้าร่วมงานบุญที่ยิ่งใหญ่ บุญจุลกฐินที่วัดชัยมงคลจ.อุบลราชธานี
นับเป็นครั้งที่ 4 ของจ.อุบลราชธานีที่จัดงานบุญที่ผู้มาร่วมงานบุญจะได้บุญมากๆ ชมรมคนพิการไทยใจอาสาจึงไม่พลาดโอกาสงานที่ยิ่งใหญ่นี้ ผู้มาร่วมงานส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่คุณครูสั่งให้ทำรายงานเรื่องจุลกฐิน นอกนั้นก็จะเป็นชาวบ้านที่มาช่วยงานเอาบุญกันแบบจริงๆจังๆ ภายในงานมีทั้งการแสดง การสาธิตการทำอาหารและขนม อาหารและเครื่องดื่มฟรีตลอดงานงานบุญจุลกฐินที่วัดชัยมงคลจ.อุบลราชธานี
วัดไชยมงคล ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด องค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จัดงานบุญประเพณีสืบสานวัฒนธรรมทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐินเฉลิมฉลอง 2600 ปีพุทธชยันตี โดยกำหนดจัดงานระหว่างวันศุกร์ที่ 23 ถึงวันเสาร์ที่ 24 เดือนพฤศจิกายน 2555 สำหรับการจัดงานบุญจุลกฐินครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 4 ที่วัดไชยมงคลได้ดำเนินการรวบรวมพุทธศาสนิกชนที่ต้องการทำบุญกับงานจุลกฐิน ให้มาพร้อมใจกันทำ เพราะการทำจุลกฐินเกิดได้จากความร่วมแรงร่วมใจของชาวพุทธที่มีศรัทธาแรงกล้าเนื่องจากเป็นการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยผลิตผ้าไตรจีวร ตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อมและถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในวันเดียว จึงนับว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดาทั่วไปซึ่งต้องทำในระยะ เวลาอันจำกัด จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งใช้สร้างความสามัคคีของคนในชุมชน และมีการทำน้อยเนื่องจากมีอุปสรรคมาก ปัจจุบันการจัดงานจุลกฐินจึงพบเห็นในภาคอีสานและภาคเหนือเท่านั้น
สำหรับการจัดงานจุลกฐินเฉลิมฉลอง 2600 ปีพุทธชยันตีครั้งนี้ วัดไชยมงคลยังร่วมกับภาคีเครือข่ายคนเมืองอุบลราชธานี จัดให้มีการละเล่นพื้นเมืองเพื่อรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีการละเล่นและ การแสดงพื้นเมืองที่เริ่มสูญหายไปจากสังคมเมือง เช่น การเล่นรีรีข้าวสาร เดินกะลา เดินขาโถกเถก ขี่ม้าก้านกล้วย โยนหมากเก็บ เล่นตี่จับ และงูกินหาง
ส่วนการแสดงดนตรีพื้นบ้านมีการแสดงหมอลำคู่ ดนตรีพื้นเมืองคนอีสาน การรำผีฟ้าของชุมชนชาวเขมร รำผีไท้ผีแถน ของชุมชนชาวภูไท การขับร้องสรภัญญะ การแสดงหนังประโมทัย (หนังบักตื้อ) รวมทั้งการประดิษฐ์ใบตองเป็นขันหมากเบ็ง ฟังผู้เฒ่าเล่นนิทาน การแสดงพระธรรมเทศนา 3 ธรรมมาสถ์ และตักบาตรพระกัมมัฏฐาน 109 รูป
“จุลกฐิน” คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มากยิ่งนัก เพราะต้องใช้ความอุตสาหพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้ เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทยมีหลักฐานว่า มีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า “ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โปรดให้ทำจุลกฐิน”
ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า “กฐินแล่น” (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียวปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งให้คณะสงฆ์ในวัดพระเชตะวัน ร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะ ผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย
สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำกฐินมาถวาย ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน 12 (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่างๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชน ในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน (เพราะสมัยก่อนไม่มีผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปขาย) การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลจาก Guideubon
ชมรมคนพิการไทยใจอาสาเข้าร่วมงานบุญจุลกฐินที่วัดชัยมงคลจ.อุบลราชธานี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น