13 ก.พ. 2556

สิทธิหลายอย่างของคนพิการทางการแพทย์ ที่หลายคนยังไม่ทราบ

สิทธิของคนพิการทางการแพทย์อีกหลายอย่าง ที่คนพิการหลายคนยังไม่ทราบ

จากการที่ชมรมคนพิการไทยใจอาสาได้ทำโครงการอบรมให้คำปรึกษาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ในการเข้าถึงสิทธิและการมีงานทำเมื่อปีพ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา และการออกเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมกับให้ความรู้เรื่องสิทธิแก่คนพิการตามชุมชนและในโรงพยาบาลจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ทราบว่าคนพิการส่วนมากไม่รู้เรื่องสิทธิที่ตนเองควรจะได้จากรัฐบาลและจากสังคม คนพิการหลายคนไม่ได้รับการฟื้นฟูทางการแพทย์ ถูกเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการที่ไม่ได้รับรู้ข่าวสารและไม่ได้รับการอบรมความรู้เรื่องสิทธิตามชนบทยังมีอีกมากมาย

สิทธิคนพิการทางการแพทย์ ที่หลายคนยังไม่ทราบ

คนพิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และลงทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทองผู้พิการ หรือบัตร ท.74) สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ และมีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ ได้แก่
1 การตรวจวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจพิเศษด้วยวิธีอื่น ๆ
2 การแนะแนว และการให้บริการปรึกษา
3 การจัดการรายกรณีแบบครบวงจร
4 การให้ยา
5 การบริการอุปกรณ์เทียมอุปกรณ์เสริมหรือเครื่องช่วยความพิการ
6 การศัลยกรรม
7 การพยาบาลเวชกรรมฟื้นฟู
8 กายภาพบำบัด
9 กิจกรรมบำบัด
10 ดนตรีบำบัด
11 ศิลปะบำบัด
12 อาชีวะบำบัด
13 พฤติกรรมบำบัด
14 จิตบำบัด
15 การบริการแพทย์ทางเลือก
16 การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน
17 การแก้ไขการพูด
18 การพัฒนาทักษะในการสื่อความหมาย
19 การพัฒนาทักษะทางสังคม สังคมสงเคราะห์ และสังคมบำบัด
20 การบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและการบริการส่งเสริมพัฒนาการ
21 การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหวหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น O&M
22 การบริการจัดสภาพแวดล้อมให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์
23 การฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นแก่ผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการ
24 การบริการด้านข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาพและการส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อบำบัดรักษาหรือเพื่อปรับสภาพทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมพฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ การดำเนินชีวิต ตลอดจนองค์ความรู้ทางการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์หรือการบริการด้านสุขภาพผ่านสื่อในรูปแบบที่เหมาะสมซึ่งคนพิการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
25 บริการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หมวด 1 สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ มาตรา 6 สุขภาพของเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มคนต่าง ๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสมด้วย
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2552 ได้กำหนดสิทธิของการให้บริการเกี่ยวกับกายอุปกรณ์เทียม กายอุปกรณ์เสริม เครื่องช่วยความพิการ
และประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง รายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม และข้อบ่งชี้ที่ใช้ในการบำบัดโรค พ.ศ. 2554 สามารถขอเบิก เครื่องช่วยฟัง เครื่องช่วยพูด อุปกรณ์หรืออวัยวะเทียม เช่นแขนขาเทียมได้เป็นต้น แต่สิทธิในเรื่องเครื่องช่วยความพิการ กายอุปกรณ์ อวัยวะเทียมดังกล่าวนี้ คนพิการส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ จึงดำรงชีวิตไปตามสภาพความพิการ บางคนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เพราะขาดกายอุปกรณ์ที่เหมาะกับสภาพความพิการ บางคนก็ประดิษฐ์กายอุปกรณ์ขึ้นใช้เองโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ทำให้คนพิการขาดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างภาระให้กับครอบครัว ผู้ดูแลและสังคม

คนพิการสามารถติดต่อขอรับบริการทางการแพทย์ ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลในกำกับของรัฐ สถานพยาบาลรัฐวิสาหกิจ สถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนด โดยเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามสิทธิของคนพิการ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้
สิทธิคนพิการทางการแพทย์ ที่หลายคนยังไม่ทราบ

5 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ถ้าเราเป็นคนพิการที่มีงานทำและมีประกันสังคมเราสามารถใช้สิทธิรักษาที่โรงบาลของรัฐทุกแห่งได้ไหมนอกเหนือจากโรงบาลที่ประกันสังคมระบุไว้แล้วเราต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

Unknown กล่าวว่า...

ถ้าเราเป็นคนพิการแต่เรามีประกันสังคมเราจะสามารถใช้สิทธิรักษาในโรงบาลของรัฐทุกทีได้ไหมหรือต้องเป็นโรงบาลที่ประกันสังคมระบุไว้เท่านั้นแล้สเราต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

คนพิการไทย กล่าวว่า...

ตามที่ผมเข้าใจ ถ้าทำงวาน มีประกันสังคมม.33 ก้ใช้สิทธิประกันสังคม หมดสิทธิใช้บัตรทอง ท.74 คงเปลียนโรงบาลไม่ได้ครับ ยังไงลองถามประกันสังคม 1506 นะครับ

Unknown กล่าวว่า...

ใช้ได้ครับผมเคยใช้สิทธิ์ คือ ถ้าจำนวนเงินตามสิทธ์ประกันสังคมไม่พอจ่ายทางหน่วยงานที่ให้การรักษาก็จะทำเรื่องตัดสิทธ์ค่ารักษาส่วนที่เหลือเป็นสิทธ์บัตรทองครับแล้วแต่หน่วยงานที่ทำการรักษานะครับเพราะขั้นตอนจะยุ่งยากนิดนึงคือต้องใช้เวลาครับ

คนพิการไทย กล่าวว่า...

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบยาลประกาสแล้วว่า คนพิการที่ทำงานและใช้สิทธิรักษาพยาบาลยนู่ในกองทุนประกันสังคม สามารถใช้สิทธิบัตรทองคนพิการร่วมด้วยได้ครับ คือไปรักษาที่ไหนก็ได้ที่เป็นโรงพยนาบาลของรัฐฯ