ชมรมคนพิการไทยใจอาสาเปิดอบรมฟรี "โครงการอบรมสร้างนักจัดรายการวิทยุคนพิการ"
จากการที่ชมรมคนพิการไทยใจอาสาได้ทำโครงการอบรมให้คำปรึกษาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ในการเข้าถึงสิทธิและการมีงานทำเมื่อปีพ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา และการออกเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมกับให้ความรู้เรื่องสิทธิแก่คนพิการตามชุมชนและในโรงพยาบาลจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ทราบว่าคนพิการส่วนมากไม่รู้เรื่องสิทธิที่ตนเองควรจะได้จากรัฐบาลและจากสังคม คนพิการหลายคนไม่ได้รับการฟื้นฟูทางการแพทย์ถูกเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการที่ไม่ได้รับรู้ข่าวสารและไม่ได้รับการอบรมความรู้เรื่องสิทธิตามอำเภอต่างๆในจังหวัดอุบลราชธานียังมีอีกมากมาย
สมัครอบรมฟรี โครงการอบรมสร้างนักจัดรายการวิทยุคนพิการ
สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ขออ้างถึงพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หมวด 1 สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ มาตรา 6 สุขภาพของเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มคนต่าง ๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสมด้วย
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2552 ได้กำหนดสิทธิของการให้บริการเกี่ยวกับกายอุปกรณ์เทียม กายอุปกรณ์เสริม เครื่องช่วยความพิการ
และประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง รายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม และข้อบ่งชี้ที่ใช้ในการบำบัดโรค พ.ศ. 2554 สามารถขอเบิก เครื่องช่วยฟัง เครื่องช่วยพูด อุปกรณ์หรืออวัยวะเทียม เช่นแขนขาเทียมได้เป็นต้น แต่สิทธิในเรื่องเครื่องช่วยความพิการ กายอุปกรณ์ อวัยวะเทียมดังกล่าวนี้ คนพิการส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ จึงดำรงชีวิตไปตามสภาพความพิการ บางคนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เพราะขาดกายอุปกรณ์ที่เหมาะกับสภาพความพิการ บางคนก็ประดิษฐ์กายอุปกรณ์ขึ้นใช้เองโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ทำให้คนพิการขาดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างภาระให้กับครอบครัว ผู้ดูแลและสังคม
และจาก แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติฉบับที่ 4 พ.ศ.2555-2559
ยุทธศาสตร์ 1 ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ แนวทาง/มาตรการในข้อสุดท้ายบอกว่า รณรงค์ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมทุกภาคส่วนสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิคนพิการ
ยุทธศาสตร์ 5 สร้างเสริมเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อความพิการและคนพิการ แนวทาง/มาตรการ มีสองข้อที่ระบุไว้ว่า สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากสังคมเวทนานิยมเป็นสังคมฐานสิทธิคนพิการ
สื่อวิทยุเป็นการสื่อสารสองทางที่สามารถโต้ตอบกันได้ทันที รวดเร็วทันเหตุการณ์ สัญญาณไปได้ไกล จึงควรที่จะมีการส่งเสริมเพิ่มจำนวนคนพิการให้เป็นนักจัดรายการวิทยุมากยิ่งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องสิทธิ สร้างความเข้าใจและสร้างเสริมเจตคติเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับคนพิการและความพิการให้สังคมได้รับทราบ
อีกทั้งจาก ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการจัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. 2552 ยังระบุไว้ในข้อ 5 เรื่องการให้สัมปทาน คนพิการสามารถใช้สิทธิในการขอการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุ หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ประชาชนสามารถรับฟังหรือรับชมได้อย่างแพร่หลายเพื่อหาประโยชน์ต่อไปได้ ทำให้คนพิการสามารถจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อหารายได้จากการได้สิทธิดังกล่าวด้วย
ชมรมคนพิการไทยใจอาสาจึงได้จัดทำโครงการนี้ เพื่อให้คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งข้อมูลข่าวสาร ได้รับความรู้เรื่องสิทธิ และได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับคนพิการ จากนักจัดรายการที่ผ่านการอบรมในโครงการนี้ซึ่งเป็นคนพิการที่เข้าใจคนพิการด้วยกัน
คุณสมบัติของผู้สมัครคือ เป็นตัวแทนจากองค์กรคนพิการในจังหวัดอุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร และจ.มุกดาหาร ที่มีใจรักและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการที่จะเป็นนักจัดรายการเพื่อเข้าอบรมจำนวน 40 คน สมัครได้ที่ ชมรมคนพิการไทยใจอาสา โทร.0878706474 ภายในวันที่ 30 เมษายน 2556
กำหนดการ
การอบรมสร้างนักจัดรายการวิทยุคนพิการ
วันที่ 2๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556
ณ.สถานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี
08.00 - 9.00 น. ลงทะเบียนผู้เข้าอบรม
09.00 - 10.00 น. ความรู้เบื้องต้น เรื่องการจัดรายการวิทยุ
โดย อ.จีณัฐชะญา จีปณัฐิกาญจน์
10.00 - 11.00 น. จัดรายการอย่างไรให้น่าสนใจ
โดย อ.นพพร พันเพ็ง ดีเจแหมบ และดีเจหมอบ้านดง อ.จีณัฐชะญา จีปณัฐิกาญจน์ ดำเนินรายการ
11.00 - 11.10 น. พักรับประทานอาหารว่าง
11.10 - 12.00 น. แบ่งกลุ่มฝึกจัดรายการวิทยุ
12.00 - 13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 - 14.00 น. ซักซ้อมการจัดรายการ
14.00 - 15.30 น. นำเสนอการจัดรายการแต่ละกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 3 คน
โดยมีวิทยากรเป็นคอมเมนเตเตอร์ 3 ท่าน นายสุชัย เจริญมุขยนันท ดำเนินรายการ
15.30 – 15.40 น. พักรับประทานอาหารว่าง
15.40 - 16.00 น. สรุป / ปิดอบรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น