28 ก.ค. 2558

งานประชุมสัมนา"ความสามารถในการทำงานของคนพิการระดับภูมิภาคเอเชียประจำปี 2015” Workability Asia Conference 2015

ตัวแทนชมรมคนพิการไทยใจอาสาได้ร่วมงานประชุมสัมนา"ความสามารถในการทำงานของคนพิการระดับภูมิภาคเอเชียประจำปี 2015”

เมื่อวันที่ 8-10 กรกฏาคม 2558 ชมรมคนพิการไทยใจอาสาได้รับเชิญเข้าร่วมงาน Workability Asia Conference 2015 ในนามของศูนย์บริการคนพิการไทยใจอาสา งานจัดขึ้นที่โรงแรมฮิลตั้น พัทยา ถือเป็นการได้รับเกียรติอย่างยิ่งที่ตัวแทนของศูนย์บริการคนพิการไทยใจอาสาได้เข้าร่วมงานระดับทวีปเอเซียเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งแรกก็คือได้เข้าร่วมประชุมเครือข่ายการดำรงชีวิตอิสระคนพิการในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก

งานประชุมสัมนา"ความสามารถในการทำงานของคนพิการระดับภูมิภาคเอเชียประจำปี 2015” (Workability Asia Conference 2015)

ครั้งแรกของประเทศไทย ที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนา“ความสามารถในการทำงานของคนพิการระดับภูมิภาคเอเชียประจำปี 2015” (Workability Asia Conference 2015) ด้วยความร่วมมือจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน, Workability International, Workability Asia, Workability Thailand ซึ่งได้ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากทุกภาคส่วน และการจัดงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการกิจการเพื่อสังคมทั้งในประเทศไทยและอาเซียนกว่า 30 องค์กร และผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และสื่อมวลชน ตลอดจนผู้แทนภาครัฐภาคเอกชนจากประเทศต่างๆ รวมผู้เข้าร่วมกว่า 482 ท่านจาก 183 องค์กร

ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพงาน Workability Asia Conference 2015 นำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงแรงงาน กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เมืองพัทยา กิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป และ Workability Thailand (WTH) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรกลุ่มภาคธุรกิจชั้นนำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสัมมนาความสามารถในการมีงานทำของคนพิการระดับภูมิภาคเอเชีย 2015 “Workability Asia Conference 2015” ภายใต้แนวคิด “Together We Can Make the Difference” นับเป็นครั้งแรกของเอเชียในการขับเคลื่อนความร่วมมือเอกชนในมิติการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการบริหารจัดการด้านคนพิการอย่างมีประสิทธิภาพ (First Business Forum for Competitive Disability Management) พร้อมชูบริษัทชั้นนำ 20 บริษัทในภูมิภาคเอเชียที่คนพิการต้องการทำงานด้วย (ASIA's Most admired companies by PWDs Employees)

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชูนโยบายการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ผ่านการหารือร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา คนพิการ ตลอดจนร่วมสนับสนุน Workability Thailand ในการชู 3 กลไกสำคัญในการสร้างงานคนพิการเพื่อสร้างขีดความสามารถทางธุรกิจ ได้แก่
1. กระบวนการจัดปรับกลยุทธ์และกระบวนการทางธุรกิจ (Customization Employment)
2. การส่งเสริมรูปแบบความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ (Corporate Social Enterprise)
3. การขยายเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนคนพิการสู่การเข้าสู่การมีงานทำอย่างมีประสิทธิภาพ (Assistive Technology & Communication

บรรยากาศในงานได้รับเกียรติจากท่านปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายวิเชียร ชวลิต), ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์) ประธาน Workability International (Mr.Patrick Maher) ประธาน Workability Asia (Mr.Katsunori Fujii) ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน และสมาชิกรัฐสภาสาว
ผู้มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกของ the South Australian Legislative Council (Ms.Kelly Vincent) มากล่าวปาฐกถาสร้างแรงบันดาลใจในฐานะต้นแบบคนพิการผู้มากด้วยความสามารถและได้รับความยอมรับจากสังคม
การจัดงานครั้งนี้ไม่เพียงมุ่งตอบโจทย์ การจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการตามโควต้าประจำปี 2557 ที่ยังขาดอยู่กว่า 2,502 จากทั้งหมด 12,421 องค์กร ที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ แต่มุ่งหวังสร้างตลาด ความสนใจ ตลอดจนความร่วมมือของภาคเอกชนอย่างเต็มกำลังในฐานะผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการสร้างงานของประเทศ และนับเป็นก้าวกระโดดสำคัญของการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการในประเทศไทยในการพัฒนารูปแบบโมเดลการทำงานร่วมกับคนพิการที่หลากหลาย เพื่อเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเอกชนชั้นนำที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่มบริษัทไมเนอร์, กลุ่มบริษัททรู, กลุ่มบริษัทพรีเมียร์, บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จํากัด, เทสโก้โลตัส, ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น

นอกจากนั้น กระทรวงแรงงานได้ร่วมจับมือ 6 ผู้นำภาคเอกชน ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ หลักการ “พลังคนพิการ: หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม” (Declaration of Welcome Disability) ที่สนับสนุนหลักการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของคนพิการและร่วมสร้างความตระหนักต่อพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนเชิงสัญลักษณ์ Welcome Disability Mark หรือ Well-D Mark ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศนำร่องในการโปรโมท Well-D Mark ในกลุ่มประเทศสมาชิก Workability Asia โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมสนับสนุนและขยายผลอย่างต่อเนื่อง โดยมี 14 องค์กรนำร่อง ร่วมประกาศเจตนารมณ์หนุน พลังคนพิการ: หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม” ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา ได้แก่
• มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,
• วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล,
• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ,
• สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.),
• เมืองพัทยา,
• องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี,
• บริษัท บีทามส์ โซลูชั่น จำกัด,
• กลุ่มบริษัทไมเนอร์,
• เทสโก้โลตัส,
• บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน),
• บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน),
• บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน),
• บริษัท เอ็มเอสไอจี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด และ
• บริษัท เอเชีย พรีซิซั่น จำกัด (มหาชน)

การขับเคลื่อนโครงการ Welcome Disability Mark ในสถานประกอบการยังมุ่งขยายสู่การสร้างความตระหนักสู่ลูกค้าและสังคมภายนอกอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมผ่านตราสัญลักษณ์ Welcome Disability Mark หรือ Well-D นับเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีและร่วมรณรงค์สังคมไทยให้ร่วมเป็นหนึ่งกำลังในการเปลี่ยนแปลง “คนพิการจากภาระให้เป็นพลัง” โดยการประกาศหลักการ “พลังคนพิการ: หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม” ใน 4 ประการคือ
1. การส่งเสริมวัฒนธรรมสังคมเพื่อคนทั้งมวล (Cultivating Inclusion)
2. การส่งเสริมนโยบายการเข้าถึงของคนพิการ (Promoting Accessibility Policy)
3. การส่งเสริมการสร้างพันธมิตร (Creating Inclusive Partnership)
4. การส่งเสริมการสร้างงานคนพิการ (Empowering Competitive Employment & Social Entrepreneurship) และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีองค์กรภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมการรณรงค์สร้างความตระหนักต่อสังคมผ่านตราสัญลักษณ์ Welcome Disability Mark หรือ Well-D กว่า 100 องค์กร

ภาครัฐ-เอกชน-คนพิการ ร่วมชูโมเดล 3 Win ในรูปแบบ Social Enterprise เป็นทางออกของปัญหาคลาดแคลนแรงงานคนพิการในสถานประกอบการ พร้อมขยายโอกาสพันธมิตรทางธุรกิจร่วมคนพิการ และสร้างแรงงานคนพิการท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของงานคือการเปิดตัว Workability Thailand ในฐานะการรวมตัวของผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่มุ่งสร้างสรรค์การพัฒนาศักยภาพและการสร้างงานคนพิการ นำร่องโดย 8 องค์กรสำคัญ ได้แก่
• มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ,
• บริษัท บีทามส์ โซลูชั่น จำกัด,
• บริษัท สยามนิชชิน จำกัด,
• บริษัท ไอแอล โซลูชั่น จำกัด,
• มูลนิธิวิถีชีวิตอิสระคนพิการ,
• บริษัท เคียงบ่าเคียงไหล่ จำกัด,
• บริษัท ฐานการ์เมทน์ จำกัด และ
• กิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป
เพื่อมุ่งขับเคลื่อนการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของภาคส่วนกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสให้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างโอกาสและบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสู่การสร้างงานแก่คนพิการและคนด้อยโอกาสอย่างยั่งยืน โดยมีพันธกิจที่สำคัญ 4 ข้อดังนี้
1) การรณรงค์สร้างทัศนคติที่ดีและความเชื่อมั่นของสังคม (Awareness & Advocacy)
2) การแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงพลังความร่วมมือของเครือข่าย (Collaboration & Networking)
3) การพัฒนาตลาดและสร้างโอกาสธุรกิจเพื่อคนพิการ (Business Opportunity)
4) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Capacity Building & Support)

Workability Thailand (WTH) มุ่งชูโมเดล “กิจการเพื่อสังคม” เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเข้มแข็งของคนพิการด้วยการสร้างงานที่มีคุณค่า และพร้อมเป็นองค์กรตัวกลางในการเชื่อมโยงภาคเอกชนร่วมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ในรูปแบบการเชื่อมผู้ซื้อผู้ขายตรง (B2B: Business to Business) ผลที่จะได้คือ
1 จะสร้างประโยชน์ให้กับภาคเอกชนมากกว่ารูปแบบการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ด้วยการได้สินค้าบริการกลับไปยังองค์กร
2 ตลอดจนได้ร่วมส่งเสริม CSR ขององค์กรในการพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจและการบริหารจัดการขององค์กรคนพิการ/องค์กรเพื่อคนพิการในการก้าวสู่รูปแบบกิจการเพื่อสังคมการสร้างความยั่งยืนทางการเงิน
3 อีกทั้งสนองนโยบายรัฐตามมาตรา 35 ในการสร้างงานคนพิการโดยตรงตามความต้องการที่เหมาะสมและขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงสถานประกอบการอีกด้วย

WTH ยังมุ่งหวังรุกหน้าเชื่อมโยงเอกชนและขยาย Well-D Mark ไปพร้อมกับการสร้างโมเดล SE เพื่อคนพิการที่หลากหลายพร้อมเชื่อมโยงเทคโนโลยี ระบบการขายออนไลน์ (Digital Market Place) เพื่อสร้างโอกาสการเจาะตลาดผู้ซื้อรายย่อย เพื่อสร้างความตระหนักสู่สังคมไทยต่อไป

Workability Asia และ Workability International ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นเครือข่ายที่รวบรวมหน่วยงานที่ส่งเสริมการดำเนินงานด้านคนพิการระดับเอเชียและระดับโลก ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 37 องค์กรจาก 13 พื้นที่คือ ประเทศบังคลาเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน (รัฐฮ่องกงและรัฐมาเก๊า) ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศเนปาล ประเทศปากีสถาน ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศศรีลังกา ประเทศไตหวัน ประเทศพม่า และประเทศไทย โดยมีเป้าประสงค์ 3 ประการ เพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการในประเทศของตนเอง ดังต่อไปนี้
1) การจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านคนพิการของแต่ละประเทศในเอเชีย
2) การแลกเปลี่ยนบุคลากร เพื่อศึกษาดูงานและเรียนรู้วัฒนธรรมและการดำเนินงานระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย
3) การรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานคนพิการให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย

Workability Thailand หรือสมาคมผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสไทยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.๒๕๐๙ และอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการวิสาหกิจ/กิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศไทย และส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบวิสาหกิจ/กิจการประเภทที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคนพิการ ในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการบริการ

คลิกชมภาพงานประชุมเสวนาได้ที่นี่
ชมภาพนิทัศการในงานได้ที่นี่
ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวและเชื่อมโยงความร่วมมือกับในการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการได้ที่อ http://www.workabilitythailand.com

ข้อมูลจาก mcot.net
งานประชุมสัมนา"ความสามารถในการทำงานของคนพิการระดับภูมิภาคเอเชียประจำปี 2015” (Workability Asia Conference 2015)

ไม่มีความคิดเห็น: