14 เม.ย. 2555

สิทธิของคนพิการที่จะขอกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

การขอกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ตอนก่อนๆได้กล่าวถึงสิทธิในการขอกายอุปกรณ์ ตอนนี้ขอพูดถึงสิทธิอีกอย่างที่คนพิการไม่ค่อยรู้กัน คือการกู้ยืมเงิน เป็นบริการที่ให้กับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมาย สามารถกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ โดยกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการได้รายละไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท ถ้ากู้เป็นแบบกลุ่ม(สองคนขึ้นไป) จะได้กลุ่มละไม่เกิน ๑ ล้านบาท ผ่อนชำระภายในระยะเวลาไม่เกิน ๕ ปีโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยต้องมีคนค้ำประกันที่น่าเชื่อถือได้ เช่น ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้าที่มีอาชีพมั่นคง ประกาศล่าสุดเมื่อ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ พก.ได้เพิ่มเป็นกู้ได้ ๖๐,๐๐๐ บาทแล้ว

คนพิการขอกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

คนพิการกู้ยืมเงินกองทุนฯ
คุณสมบัติของคนพิการที่จะกู้ยืมเงินกองทุนฯ

1.มีบัตรประจำตัวคนพิการ
2.มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพในท้องที่ที่ยื่นคำขอ
3.มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน
4.บรรลุนิติภาวะ
5.มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือถิ่นที่อยู่ถาวรในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
6.ไม่มีประวัติเสียหายในการกู้ยืมเงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไขมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
7.กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องได้ชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของวงเงินกู้ยืมทั้งหมดและเมื่อได้การอนุมัติแล้วต้องชำระหนี้สินที่มีอยู่เดิมทั้งหมด
8.ความสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมได้และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกัน

ผู้ดูแลคนพิการกู้ยืมเงินกองทุนฯ
คุณสมบัติของผู้ดูแลคนพิการ

1. มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพในท้องที่ที่ยื่นคำขอ
2.มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน
3.บรรลุนิติภาวะ
4.มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือถิ่นที่อยู่ถาวรในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
5.ไม่มีประวัติเสียหายในการกู้ยืมเงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไขมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
6.กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องได้ชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของวงเงินกู้ยืมทั้งหมดและเมื่อได้การอนุมัติแล้วต้องชำระหนี้สินที่มีอยู่เดิมทั้งหมด
7.ความสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมได้และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกัน
8.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
9.ได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากผู้แทนองค์กรด้านคนพิการ กำนันผู้ใหญ่บ้านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนา ข้าราชการระดับ ๓ หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการซึ่งมิได้มีหนี้สินจากกองทุน

กรุงเทพมหานคร ติดต่อที่ ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน ๑๒ เขต (หน่วยให้บริการร่วมกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
ต่างจังหวัด ติดต่อที่ สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)


ตอนต่อไปจะว่าด้วยเรื่อง สิทธิในการเรียกร้องเมื่อถูกเลือกปฏิบัติ
สิทธิของคนพิการที่จะขอกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ไม่มีความคิดเห็น: