23 ก.ค. 2555

อาชาบำบัดเด็กออทิสติกบำบัดรักษาได้ด้วยม้า ขี่ม้ารักษาโรคได้

เด็กออทิสติกบำบัดรักษาได้ด้วยม้าอาชาบำบัด
ข่าวคนพิการตอนที่แล้วเสนอเรื่องรถไฟสำหรับคนพิการ สำหรับตอนนี้ขอนำเอาข่าวเกี่ยวกับอาชาบำบัดเพื่่อเด็กออทิสติกมาเสนอ
ซีคอน เพ็ท แพลนเน็ต ครั้งที่ ๑๐ ภายใต้คอนเซ็ปต์ฟาร์มวิลล์ ที่ ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ นำเอา "ม้าแคระ" สายพันธุ์นำเข้าจากอังกฤษ และมีขนาดใหญ่เพียงครึ่งหนึ่งของม้าธรรมดา มาแปลงร่างเป็นพระเอกให้น้องๆ หนูๆ โดยเฉพาะเด็กพิเศษในกลุ่มออทิสติกและสมาธิสั้น ได้ขี่บำบัดกันแบบฟรีๆ ...ก็ได้รู้ว่า จังหวะการเดินยักย้ายส่ายสะโพกสุดแสนสง่างามของม้านั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เทียบเท่าได้กับ "จังหวะการเดินของคน" ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางด้านร่างกาย และสืบเนื่องไปจนถึงพัฒนาการทางสมองของเด็กพิเศษกลุ่มนี้!

แม้ว่าในปัจจุบัน อัตราผู้ป่วยออทิสติกในประเทศไทยจะพบไม่สูงนัก ประมาณ ๔-๕ ต่อ ๑ หมื่นคน แต่สำหรับผู้ปกครองหลายคนที่พบว่าลูกตัวเองเป็นเด็กพิเศษแล้ว แน่นอนว่าความทุกข์ใจห่วงใยย่อมเกิดขึ้น เพราะออทิสติกเป็นอาการของความผิดปกติทางพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง ส่งผลให้เกิดความย่อหย่อนของประสาทการรับรู้ เด็กที่ป่วยเป็นออทิสติกจะพูดช้าและแยกตัวออกจากสังคม ซึ่งส่วนมากแล้วผู้ปกครองต้องดูแลกันไปตลอดชีวิต เนื่องจากเด็กมีพัฒนาการทางร่างกายและสังคมช้ากว่าอายุจริงอยู่มาก

ฉะนั้น เมื่อศาสตร์อาชาบำบัดถูกเผยแพร่ในสังคมไทย พ่อ-แม่ ผู้ปกครองหลายคนจึงฝากความหวังที่มีไว้กับ "ม้า" สัตว์เดรัจฉานที่ไม่มีอะไรเทียบเท่ากับนวัตกรรมทางการแพทย์ของมนุษย์ได้เลย "จริงๆ แล้วศาสตร์อาชาบำบัดมีมาตั้งแต่โบราณ แต่ในช่วง ๑๐ ปีให้หลัง ในสหรัฐอเมริกาเป็นที่นิยมมาก จนประเทศไทยก็ไปนำอาชาบำบัดมาเผยแพร่เพราะของเขาดีจริง ส่วนทางโรงเรียนมีการใช้ม้า วัวนม และกวาง เป็นอุปกรณ์การเรียนมีชีวิตให้เด็กได้ศึกษาถึงวิถีธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ ๕-๖ ปีก่อนนี้เราได้รับเด็กพิเศษมาร่วมเรียนกับเด็กปกติ ม้าจึงมีบทบาทเพิ่มด้วยการช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีอาการออทิสติกและสมาธิสั้น" ผอ.มิตรสัมพันธ์ ค่อยๆ แจงรายละเอียดให้ทราบ

อาชาบำบัดเพื่อเด็กออทิสติก

ส่วนประโยชน์ที่เด็กพิเศษจะได้รับจากการขี่ม้า จากคำบอกเล่าของ ผอ.โรงเรียนคนเดิม สามารถสรุปอย่างชัดเจนได้ว่า มีคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์
 ๑.ช่วยให้กล้ามเนื้อที่เกร็งคลายตัวและมีการทรงตัวที่ดีขึ้น ผ่านจังหวะการก้าวเดินของม้าที่บั้นท้ายจะบิดเป็นเกลียว จนทำให้ก้นของเด็กบิดเอียงตาม ซึ่งเหมือนกับการหัดเดินด้วยตัวเอง (ลักษณะการนั่งจะเป็นการนั่งบนหลังม้าไร้อาน มีแค่ผ้าปูผืนบางวางรองและที่จับเท่านั้น เพื่อให้แรงกระเพื่อมจากตัวม้าส่งไปถึงเด็กมากที่สุด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากมีครูและเจ้าหน้าที่เดินตามประกบซ้ายและขวา)
๒.พัฒนาการทางกล้ามเนื้อ สายตา และความจำดีขึ้น ด้วยการเพิ่มกิจกรรมโยนลูกบอลสีให้ลงห่วง พร้อมๆ กับการฝึกความจำสีของลูกบอลระหว่างขี่ม้า
๓.พูดจาได้ชัดเจนรู้เรื่องมากขึ้น เพราะเด็กจะผ่อนคลายมีความสุขเมื่อได้ขี่ม้า จนบางครั้งถึงกับฮัมหรือเปล่งเสียงร้องเพลงตามคุณครูที่พาเดิน และ
๔.เปิดตัวตนเข้าสังคมมากขึ้น โดยมีม้าเป็นสะพานในการเชื่อมความสัมพันธ์กับสังคมภายนอก ผ่านการสัมผัสและการหัดมอบความรักให้กับผู้อื่น
ใช่ว่าทุกคนที่มาบำบัดจะดีขึ้นเหมือนกันหมด เพราะเด็กแต่ละคนมีอาการไม่เท่ากัน ในแง่นี้ ผอ.มิตรสัมพันธ์ อธิบายว่า อาการป่วยที่เด็กๆ เป็น เราจะแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ เป็นน้อย ปานกลาง และมาก ซึ่งถ้ารู้ตัวว่าลูกป่วยและพามาบำบัดเร็ว เด็กก็จะมีพัฒนาที่ดีขึ้นได้เร็ว อายุที่เหมาะสมก็คือ ๒-๓ ขวบขึ้นไปก็พามาได้แล้ว

"ผมยืนยันว่าบำบัดเพียง ๘-๑๒ ครั้ง ครั้งละ ๒๐-๓๐ นาที โดยอาศัยระยะเวลาเพียง ๒ เดือน คุณพ่อคุณแม่จะเห็นความแตกต่างของลูกได้ชัดเจนมาก เฉพาะกลุ่มที่มีอาการน้อย เขาจะพูดรู้เรื่อง เดินได้เอง มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น เรียกได้ว่าดีขึ้น ๕๐-๘๐% ทีเดียว แต่ถ้าเป็นเด็กอายุเยอะแล้วโอกาสดีขึ้นก็จะยากตามครับ"

อย่างไรก็ตาม ที่ รร.อนุบาลดอนเมืองบริรักษ์มีม้าอยู่ทั้งสิ้น ๖ ตัว โดยเป็นม้าแคระ ม้าลูกผสมต่างประเทศ และม้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเหตุที่ต้องนิยมของนอก ผอ.มิตรสัมพันธ์ บอก เป็นเพราะนิสัยม้านอกเชื่องกว่าม้าไทย อัตราการทำร้ายนักเรียนจึงแทบไม่มี และที่ต้องมีม้าต่างขนาดก็เพื่อให้เหมาะกับน้ำหนักของเด็ก ถ้าเป็นม้าแคระ เด็กที่ขึ้นขี่ได้จะต้องหนักไม่เกิน ๓๐ กิโลกรัม เพื่อไม่ให้ม้าต้องรับภาระหนักมากเกินไป ที่สำคัญสำหรับเด็กพิเศษแล้ว หากต้องการเข้าคอร์สอาชาบำบัดที่ รร.อนุบาลดอนเมืองบริรักษ์ ไม่ต้องพกเงินมาสักบาท ขอแค่กล้วยน้ำว้า ๔-๖ ผล หรือมากหน่อยก็คือ ๑ หวี แต่ห้ามมากกว่านี้ ผอ.รร.บอกว่าพอแล้วครับ

"เราเข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ และรู้ว่าเขาต้องเหน็ดเหนื่อยมากเพียงไร เราจึงอยากทำตรงนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายไปซ้ำเติมพวกเขา ถ้าเป็นที่อื่นเสียค่าใช้จ่ายชั่วโมงละ ๕๐๐ -๑,๐๐๐ บาททีเดียว เป็นเจตนาดีที่เราอยากทำเพื่อสังคมจริงๆ" เจ้าของ รร.อนุบาลดอนเมืองบริรักษ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง และฝากบอกด้วยว่า ใครที่สนใจนำเด็กพิเศษมาเข้ารับการบำบัด ขอให้ติดต่อทางโรงเรียนเพื่อจองเวลาล่วงหน้า โดยจะเปิดทำการในวันอาทิตย์ตั้งแต่ ๗-๙ โมงเช้า ส่วนช่วงเย็นของวันจันทร์-ศุกร์ และวันเสาร์จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป เพราะอยากให้ผู้ที่มาบำบัดใช้เวลากับม้าอย่างเต็มที่เพื่อประสิทธิผลที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเด็กพิเศษจากมูลนิธิคุณพุ่ม รพ.ราชานุกูล รพ.รามาธิบดี และสำนักงานเขตดอนเมือง มาใช้บริการหมุนเวียนอยู่จำนวน ๖๐-๗๐ คน ถึงแม้จะไม่รับอามิสสินจ้างค่าบริการ แต่ถ้าใครมีใจกุศลจะบริจาคอาหารม้า หรือมอบม้าที่ปลดระวาง เพียงแต่ขอเป็นม้าตามสายพันธุ์ที่ระบุไว้ในข้างต้น ทางโรงเรียนเขาก็ยินดีรับไว้ สนใจติดต่อได้ที่คุณครูน้อง โทร. ๐๘-๕๔๔๐-๑๔๑๐ หรือที่เว็บไซต์ www.dmb.ac.th.
ข้อมูลข่าวจาก : ไทยโพสต์ออนไลน์

จ.อุบลราชธานีมีศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ม้าพื้นบ้าน ผมว่าน่าจะสนับสนุนเพื่อนำเด็กพิเศษดังกล่าวมาบำบัดฟื้นฟูที่นี่ได้ จะได้ใช้ประโยชน์ของม้าในอีกด้าน ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว และยังเป็นการช่วยรายจ่ายของเจ้าของศูนย์ด้วย
ศูนย์อนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านสิรินธร ตั้งอยู่ที่ 111 บ้านหนองชาด ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี 34350
อยู่ห่างจากเขื่อนสิรินธร ประมาณ 3 กม. โทรแจ้งล่วงหน้ากับอาจารย์ชูชาติ เจ้าของศูนย์์ได้ที่ โทร. 081-9558369, 089-5845117

ไม่มีความคิดเห็น: