25 ก.ย. 2555

ขี่ม้าเพื่อบำบัดเด็กพิการออทิสติกในจ.อุบลราชธานี อาชาบำบัด

เด็กออทิสติกบำบัดด้วยการขี่ม้าในจ.อุบลราชธานี "อาชาบำบัด"

ผมเคยนำเรื่องอาชาบำบัดที่ทั้งต่างประเทศและไทย โดยเฉพาะจังหวัดในภาคกลางรวมถึงกรุงเทพฯให้การยอมรับว่า ม้าเป็นสัตว์ที่สามารถนำมาบำบัดรักษาผู้ปวดเด็กพิการออทิสติกได้ และได้ทราบว่าที่จ.อุบลราชธานีก็มีชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านที่มีศักยภาพพอที่จะเป็นสถานบำบัดเด็กออทิสติกได้ จึงขอนำเอาเรื่องราวของจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านสิริธรขึ้น

เด็กหญิงจุฑามาศ รัตนา หรือน้องอ้น วัยแปดขวบ ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้จันทร์เพ็ญ วะยะลุน วัย 32 ผู้เป็นแม่ ตัดสินใจลาออกจากงานในโรงงานที่จังหวัดสมุทรปราการ แล้วพาลูกกลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
จันทร์เพ็ญดูแลลูกคนเดียวอย่างสุดความสามารถ แต่ความหวังที่จะเห็นลูกสาวคนเดียวช่วยเหลือตัวเองได้ดูริบหรี่เต็มที แต่แล้วโลกของน้องอ้นก็ดูสดใสขึ้นเมื่ออาจารย์ชูชาติ วารปรีดีแห่งโรงเรียนบ้านด่าน อำเภอโขงเจียม ที่น้องอ้นเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 1 คัดเลือกเธอให้เข้าร่วมโครงการอาชาบำบัดของชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้าน อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี
หลังไปขี่ม้าทุกเสาร์-อาทิตย์ต่อเนื่องหลายครั้ง น้องอ้นก็นั่งตัวตรงๆได้นานขึ้น ก่อนหน้านั้นนั่งตัวตรงไม่ค่อยได้ ตอนแรกแม่จะต้องขี่ม้าไปด้วยพร้อมกับกอดน้องแนบอกตลอดเวลา แต่ระยะหลังๆน้องอ้นบอกว่าไม่ต้องจับก็ได้ ลูกจะนั่งเอง จันทร์เพ็ญเล่าด้วยน้ำเสียงแจ่มใส



อาชาบำบัด การขี่ม้าเพื่อบำบัดเด็กพิการออทิสติก มีแล้วในจ.อุบลราชธานี

ชูชาติซึ่งดำรงตำแหน่งประธานชมรมฯ กล่าวว่า น้องอ้นเป็นเด็กพิเศษคนแรกที่มาหัดขี่ม้ากับชมรมและเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขากับอาสาสมัครของชมรมทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างในการจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นเมื่อต้นปี 2552 หลังได้รับการอบรมม้าบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันซึ่งจัดโดยมูลนิธิโรงเรียนอนุบาลบ้านรักและสโมสรโกลเด้นฮอร์สในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

เด็กออทิสติกหรือเด็กพิเศษประเภทต่างๆมักถูกมองว่าสร้างปัญหาในห้องเรียน จนผู้เกี่ยวข้องไม่ค่อยเอาใจใส่เด็กเหล่านี้เท่าที่ควร ทั้งที่เด็กเหล่านี้ก็มีหัวจิตหัวใจเหมือนเด็กคนอื่น ในจังหวัดอุบลฯ มีเด็กพิเศษเหล่านี้ไม่น้อยเหมือนกัน ชูชาติกล่าว เราจึงหวังว่าจะใช้ม้าเป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กๆเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ชูชาติเริ่มผูกพันกับม้าตั้งแต่ปี 2529 เพราะสงสารที่เห็นคนนำม้าไปขายในตลาดก่อนจะถูกส่งต่อไปที่โรงฆ่าสัตว์เพื่อทำเป็นลูกชิ้น ยุคนั้น การคมนาคมเริ่มสะดวกขึ้นจนสัตว์พาหนะอย่างม้าเริ่มหมดความสำคัญลงเรื่อยๆ

แต่เนื่องจากเขารับราชการครู เงินเดือนจึงต้องหมดไปกับภาระรับผิดชอบทางครอบครัว ไม่มีเงินเหลือพอจะซื้อม้าเหล่านี้ไว้ ดังนั้น ชูชาติจึงทำงานพิเศษต่างๆแล้วเก็บหอมรอมริบจนได้เงินราว 5,000 บาท ซึ่งมากพอจะซื้อม้าตัวแรกมาเลี้ยงทั้งที่ไม่เคยเลี้ยงม้ามาก่อน

เมื่อความรู้ในการเลี้ยงม้าเท่ากับศูนย์ อาจารย์ชูชาติจึงต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งจากผู้รู้ในท้องถิ่นและตำราต่างๆ ยิ่งศึกษาและเลี้ยงต่อไป เขาก็ผูกพันกับม้ามากขึ้นจนเกิดแรงบันดาลใจในการเผยแพร่แนวคิดอนุรักษ์พันธุ์ม้าพื้นบ้านของไทย หรือที่เรียกกันว่าม้าแกลบให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น ในที่สุด เขาสามารถก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านสิรินธรเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541

ปัจจุบัน ชมรมของชูชาติเปิดให้บริการที่พักและการขี่ม้าชมป่าแก่ประชาชนทั่วไปจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด พร้อมกับเป็นศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติสำหรับเยาวชนในภูมิภาคนี้ด้วย ภายในศูนย์มีม้าในความดูแลประมาณ 30 ตัวซึ่งชูชาติเชื่อว่าเป็นม้าพันธุ์พื้นบ้านฝูงใหญ่ที่สุดฝูงสุดท้ายของประเทศไทย

นอกจากนี้ ทางชมรมยังดูแลให้การบำบัดแก่เด็กพิเศษอย่างน้องอ้นประมาณ 13 คนด้วยการฝึกให้ขี่ม้าที่ชมรมในอำเภอสิรินธรโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

เราทำชมรมมานานและได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสังคม ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องตอบแทนสังคมด้วยการดำเนินการโครงการอาชาบำบัดนี้ให้ได้แม้จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ชูชาติกล่าว

โครงการนี้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหลังสิรินทร์ นิ่มรัตนสิงห์ อาสาสมัครของชมรม ตัดสินใจบริจาคที่ดินเกือบสิบไร่ในเขตอำเภอเมือง จ. อุบลฯ ให้แก่โครงการนี้ และจัดตั้งเป็นบ้าน ม. ม้า เพราะครั้งแรกที่เห็นน้องอ้นขี่ม้า เธอถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ เธอตัดสินใจสละสิทธิ์การรับราชการที่จังหวัดชุมพรและหันมาทำงานให้กับโครงการนี้แบบเต็มเวลาในฐานะอาสาสมัคร

ความจริงแล้ว ทุกคนที่ทำงานให้กับชมรมฯรวมทั้งอาจารย์ชูชาติล้วนอยู่ในฐานะอาสาสมัคร เราไม่มีงบประมาณมากพอจะจ้างเจ้าหน้าที่ประจำ เราทุกคนทำงานนี้ด้วยใจรักจริงๆ

เมื่อถามถึงเป้าหมายของโครงการอาชาบำบัดและชมรม อนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านสิรินธร ชูชาติตอบว่า ผมอยากให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของม้าซึ่งเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรพบุรุษของชาติมานาน แถมยังเคยเป็นสัตว์พาหนะรับใช้มนุษย์มาตั้งแต่โบราณ สมควรที่เราจะต้องดูแลและยกย่องให้มากกว่านี้ และที่สำคัญคือ ม้ายังช่วยพัฒนาศักยภาพทางกายและสมองของเด็กพิเศษกลุ่มต่างๆอย่างได้ผลอีกด้วย

ข้อมูลจาก readersdigestthailand.co.th
ขี่ม้าเพื่อบำบัดเด็กพิการออทิสติกในจ.อุบลราชธานี อาชาบำบัด

ไม่มีความคิดเห็น: