16 ต.ค. 2555

ชมรมคนพิการไทยใจอาสาเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.

คนพิการขอเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ(ร่าง)ประกาศ กสทช.ที่จัดขึ้นในจ.อุบลราชธานี

ชมรมคนพิการไทยใจอาสาเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การอบรมและทดสอบเพื่อขอรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
ปกติในทุกหกโมงเช้าผมจะเตื่อนนอนด้วยวิธีปลุกจากเสียงวิทยุที่ตั้งเวลาปลุกไว้ เป็นรายการข่าวจากสถานีวิทยุคลีนเรดิโอ ในเช้าวันที่ ๙ ตุลาคม ก็ได้ทราบข่าวว่าจะมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.
เรื่อง การอบรมและทดสอบเพื่อขอรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในจังหวัดอุบลราชธานี จึงนึกถึงแผนยุทธศาสตร์ข้อที่๕ "การสร้างเจตคติในเชิงบวกต่อคนพิการและความพิการ" ที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติฉบับที่ ๔ (๒๕๕๕-๒๕๕๙) และน้องสุริยา เคยชวนให้ผมไปช่วยจัดรายการในช่วงเวลาที่สถานีสวท.อุบลฯจัดสรรค์ให้กับคนพิการในจ.อุบลราชธานี ทำให้ผมตัดสินใจในทันทีว่าต้องไปงานนี้ สมาชิกอีกสองคนในชมรมรู้จากผู้ช่วยอ่อน(PAอ่อน) ว่าผมจะไปจึงขอไปร่วมกิจกรรมนี้ด้วย

คนพิการเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช) กำหนดจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การอบรมและทดสอบเพื่อขอรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 2 ในวันพุธที่ 10 ตุลาคม 2555 ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี ห้องทับทิมสยาม

ช่วงเช้าเสวนา เรื่อง "บัตรผู้ประกาศ : ความภูมิใจของการใช้ภาษา" โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ
- นางสาวปิยณี เทียมอัมพร ผู้ประกาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓
- นางสาวชมพูนุช ตัณฑเศรษฐี ผู้ประกาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีกองทัพบกช่อง ๗
- นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ผู้ดำเนินรายการวิทยุ-โทรทัศน์
ดำเนินการเสวนาโดย สุชัย เจริญมุขยนันท์ นักจัดรายการชื่อดังของจ.อบลฯ
มีผู้เข้าร่วมงานเต็มห้องประชุมน่าจะเกินห้าร้อยคน เกือบทั้งหมดเป็นนักจัดรายการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเช้าก็เป็นเรื่องการเล่าประสบการณ์ของผู้มาร่วมรายการทั้งสามท่าน สลับกับคำถามจากผู้ฟังด้านล่างที่ขึ้นพูดไม่กี่คน

ภาคบ่ายเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.
เรื่อง การอบรมและทดสอบเพื่อขอรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ฟังให้ความสนใจมาก มีคำถามและข้อเสนอแนะต่อร่างฉบับนี้มากมายจนวิทยากรบนเวทีตอบไม่หมดต้องฝากให้ไปถามและแสดงความเห็นต่อทางจดหมาย โดยส่งไปยัง กลุ่มงานพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(บส.) สำนักงานกสทช. เลขที่ ๘๗ ถ.พหลโยธิน๘(สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. ๑๐๔๐๐ อีเมล committee.nbtc@gmail.com โดยให้วงเล็บมุมซองหรือตั้งชื่อเมลว่า"แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ" หรือโทรสาร ๐๒๒๗๑๐๑๕๑-๖๐ ต่อ ๔๖๒ หรือ ๐๒๒๗๘๔๔๒๖
๑๖.๐๐ น. สรุปและปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ

สมัยกรมประชาสัมพันธ์ดูแลเรื่องนี้ ใครก็ไปสมัครเพื่อสอบเอาใบผู้ประกาศได้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนการกำกับดูแลมาอยู่กับกสทช. จึงมีประกาศกสทช.เรื่องการสอบใบผู้ประกาศ ซึ่งยังอยู่ในช่วงของฉบับร่าง มีการกำหนดหลักเกณฑ์มากมาย โดยเฉพาะคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าสอบ ต้องจบปริญญาตรีสาขาสื่อสารมวลชน(วิทยุและโทรทัศน์เท่านั้น) และต้องผ่านการอบรมสามระดับคือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง แต่ละระดับต้องเสียค่าเข้าอบรมครั้งละ๔,๐๐๐ ๕,๐๐๐ และ ๖,๐๐๐ บาทตามลำดับ ผ่านสามระดับแล้ว จึงมีสิทธิสมัครเข้าสอบผู้ประกาศ ยังต้องมีค่าสมัครสอบอีก๑,๐๐๐บาท เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยเพื่อจะได้มาเป็นผู้ประกาศนักจัดรายการ

ผมในนามตัวแทนของคนพิการที่ไปเพียงสามคนเพื่อเข้าร่วมประชุมในครั้ง จึงแสดงความคิดเห็นไปว่า คนพิการมีข้อจำกัดในการศึกษาเนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานศึกษาไม่มี โดยยกตัวอย่างเช่นน้องชมพู่ มิสวีลแชร์ปี2012 ที่ต้องนั่งรถเข็นไปเรียนในระดับปริญญาตรี ตอนแรกน้องสอบติดมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง อยากมาทางสายสื่อสารมวลชน แต่สถานศึกษาแห่งนั้นไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกได้แก่ทางลาดหรือลิฟท์สำหรับคนพิการ ทำให้ชมพู่ต้องเบนเข็มชีวิตมาช่วยเหลือคนพิการ เข้าเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ในรั้วธรรมศาสตร์ที่มีความพร้อมด้วนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ(อ่านบทสัมภาษณ์มิสวีลแชร์น้องชมพู่) และผมยังได้ยกตัวอย่างนักสื่อสารมวลชนหลายท่านก็ไม่ได้จบสาขาวิทยุ-โทรทัศน์ เช่นคุณปัญญา นิรันกุล คุณสัญญา คุณากร จบสถาปัตย์ คุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ จบนิติศาสตร์ คุณกิตติ สิงหาปัดจบเกษตรศาสตร์ ทุกท่านสอบได้เป็นผู้ประกาศและประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงทั้งสิ้น จึงไม่ควรที่จะกำหนดเรื่องคุณสมบัติว่าต้องระดับป.ตรีทางวิทยุ-โทรทัศน์ ยังมีข้อเสนอและคำถามอีกหลายข้อที่ได้เขียนในกระดาษส่งให้เจ้าหน้าที่ เพราะมีหลายคิวที่ขอแสดงความเห็นผ่านไมค์ในห้องประชุม

สรุปงานในวันนี้ว่า ผมอยากให้คนพิการที่เป็นนักจัดรายการต้องช่วยกันสื่อสารไปตามสถานนีของท่าน ช่วยกันสร้างเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อความพิการและคนพิการ เปลี่ยนความคิดให้กับผู้คนในสังคม จากคนพิการคือสังคมแห่งความเวทนานิยม มาเป็นคนพิการคือสังคมฐานสิทธิ สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หมายถึงถ้าคนในสังคมยอมรับและเข้าใจในธรรมชาติของคนพิการ ให้เขาได้ใช้สิทธิตามที่กฏหมายกำหมดไว้ ทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ(หน่วยราชการและสถานที่สาธารณะต้องทำให้แล้วเสร็จในปี๒๕๕๔ ตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา) คนพิการจะได้กล้าออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจในเมื่อสังคมเข้าใจพวกเขาแล้ว สุดท้ายคนพิการก็จะอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

อ่าน ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การอบรมและทดสอบเพื่อรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๖

คนพิการเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.

ไม่มีความคิดเห็น: